แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 - 2564

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างศักยภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ

กลยุทธ์ที่ 4.3 การพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
เป้าหมาย

ทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และมีความพร้อมในความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและโลกที่เป็นเชิงรุก

ตัวชี้วัด

1 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ลดลงร้อยละ 7 - 20 ภายในปี พ.ศ. 2563 (เทียบเคียงกับกรณีพื้นฐาน (Business as Usual: BAU) โดยใช้ปี พ.ศ. 2548 เป็นปีฐาน)

2 สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 25

3 จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น (เพิ่มขึ้น)

4 องค์กรหรือเครือข่ายรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน (เพิ่มขึ้น)

5 จำนวนประชากรที่เสียชีวิต สูญหาย ได้รับบาดเจ็บ หรือต้องโยกย้าย/อพยพ เนื่องมาจากผลของภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อประชากร 100,000 คน (ลดลง)

6 จำนวนความร่วมมือกับต่างประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีกิจกรรมการดำเนินงานในแต่ละปี (เพิ่มขึ้น)


แนวทางการปฏิบัติ ผลการดำเนินงาน
4.3.1.1 เปิดเผยข้อมูลการเจรจา และแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ เป็นแรงสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ของชาติ
4.3.1.2 เพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากรและองค์กร รวมถึงภาคีที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และร่วมมืออย่างเป็นเครือข่ายหรือภาคีในการบริหารจัดการข้อมูลทางวิชาการที่มีความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นพื้นฐานในการเจรจาต่อรอง
4.3.1.3 ติดตามและเฝ้าระวังมาตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนทั้งที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของภาคีการค้าหลัก และมาตรการในกรอบทวิภาคี และพหุภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันหรือรองรับมาตรการดังกล่าว โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม
แนวทางการปฏิบัติ ผลการดำเนินงาน
4.3.2.1 ส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงานไทยในการร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการค้าและสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4.3.2.2 ส่งเสริมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในการนำกลไกความร่วมมือและการสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัย และการวิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นกรอบความร่วมมือที่สมประโยชน์ (Win - win) สอดคล้องและต่อยอดกับนโยบายของประเทศ
4.3.2.3 ผลักดันให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะการรวมกลุ่มในประชาคมอาเซียน และกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในการร่วมกันอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ และแก้ไข จัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้ามแดนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรพลังงาน ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาหมอกควัน ปัญหาการลักลอบค้างาช้าง และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
4.3.2.4 สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และความตกลงทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งติดตามผลการเจรจาและท่าทีของประเทศต่างๆ ทั้งในเวทีการค้าโลก และการเจรจาในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศที่เหมาะสม และกำหนดการเจรจาเชิงรุก